June 7, 2023
ถนนหนทาง สร้างกันอย่างไร Ver2

ถ้าพูดถึงการเดินทางหลักของประเทศไทย ก็คงไม่พ้นการเดินทางโดยรถประเภทต่างๆ ถนนแต่ละสายมีวิธีการสร้างแตกต่างกันออกไปตามประเภทและเส้นทางของถนน แน่นอนว่าการสร้างทุกอย่างก็ต้องเริ่มจากการสำรวจก่อน แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องสำรวจเพื่อการสร้างถนนจะขอเล่าถึงประเภทของถนนก่อนนะคะ

ประเภทของถนน

ประเภทถนน (แบ่งตามวัสดุที่สร้าง)

หลักๆ แล้วเราแบ่งถนนออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. ถนนลูกรัง 

ถนนลูกรังเป็นถนนที่พบมากในพื้นที่ชนบท มีชั้นแรกเป็นดินถมและอัดแน่นด้านบนด้วยดินลูกรังสีแดง ข้อดีคือสร้างง่าย ใช้งบน้อย แต่ว่าชำรุดเร็ว ยิ่งถ้ารถที่มีน้ำหนักมากไปวิ่งบ่อยๆ ถนนก็จะทรุดง่ายแถมฝุ่นเยอะมาก เรียกได้ว่ารถวิ่งทีฝุ่นฟุ้งจนหัวแดงกันเลยทีเดียว

  1. ถนนคอนกรีต 

ส่วนมากเราจะเจอถนนคอนกรีตตามเมืองใหญ่ๆ หมู่บ้าน หรือถนนภายในห้างสรรพสินค้า อาจเป็นคอนกรีตธรรมดาหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการรับน้ำหนักได้ดีกว่าถนนลูกรังแต่ก็ไม่ได้ดีมาก ยังคงต้องหาวัสดุหรือเทคนิคการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อเสริมความคงทนและแข็งแรง

  1. ถนนราดยาง หรือ ถนนยางมะตอย (แอสฟัลต์) 

เราพบถนนราดยางได้มากในช่วงถนนที่เป็นรอยต่อระหว่างเมืองหรือถนนภายในคอนโดเป็นต้น ถือเป็นถนนที่นิยมสร้างกันมากเพราะรับแรงได้มากและมีความเรียบ อีกทั้งยังสร้างได้รวดเร็ว แถมทนทานและยืดหยุ่นกว่าถนนคอนกรีต แต่มีข้อเสียคือต้องใช้เครื่องจักรในการซ่อมบำรุงเท่านั้น

ขั้นตอนการสำรวจก่อนสร้างถนน

ไปเตรียมอุปกรณ์กันเถอะ!

ทุกงานสำรวจจะใช้อุปกรณ์ไม่ต่างกันมากค่ะ ส่วนใหญ่จะเลือกอุปกรณ์ตามความเหมาะสมของงาน จะขออธิบายอุปกรณ์ที่จะใช้คร่าวๆ กันค่ะ

1. กล้องระดับและไม้สต๊าฟ สำหรับทำโปรไฟล์ระดับถนน เพื่อให้รู้ว่าถ้าต้องการถนนที่มีระดับสูงจากดินเดิม 10 เซนติเมตร จะต้องถมดิน/ราดยางมากแค่ไหน นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้ในการวัดระยะทางได้ด้วย

2. กล้องโทเทิลและปริซึม สำหรับถ่ายมุมหรือทำโค้งถนน แถมยังวัดระยะทางและระดับได้ด้วย (ถ้ามีอันนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องระดับก็ได้ค่ะ แต่มีไว้ 2 แบบอุ่นใจกว่า)

3. เครื่อง GPS/GNSS สำหรับหาพิกัดเพื่อเปรียบเทียบว่าตำแหน่งหมุดที่ออกแบบมีความคลาดเคลื่อนกับหมุดบนแผนที่มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้จะต้องดูด้วยว่างานดังกล่าวยอมให้มีค่าคลาดเคลื่อนเท่าไร

4. ร่มสำรวจ อันนี้สำคัญมากเพราะร่มจะช่วยกันแดดกันฝนให้ทั้งอุปกรณ์สำรวจและคนสำรวจด้วย ถ้าถามว่าจะใช้ร่มกันแดดธรรมดาได้ไหม? ก็ได้อยู่นะคะถ้าแค่กางให้คนสำรวจ แต่แนะนำว่าพกร่มสำรวจไปกางให้พวกกล้องหรือเครื่องมือสำรวจจะดีกว่า ป้องกันกล้องฮีทสโตรก

5. โดรน นวัตกรรมใหม่ที่สามารถใช้สำรวจพื้นที่จากมุมสูงได้ ถ้ามีให้ใช้ในงานสำรวจจะดีมาก เพราะจะเห็นภาพรวมของพื้นที่ทั้งหมดที่จะก่อสร้าง สามารถใช้สำรวจทั้งก่อนสร้าง ระหว่างสร้าง และหลังสร้างถนนก็ได้หมด

6. อุปกรณ์ในการทดสอบดินแบบต่างๆ เพื่อทดสอบชนิดดิน/ชั้นดินในพื้นที่ก่อสร้าง อาจเป็นอุปกรณ์เก็บตัวอย่างมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ ในส่วนนี้จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบดินก็จริงแต่ก็ยังเกี่ยวกับช่างสำรวจเล็กน้อย

อาจใช้ตามที่กล่าวมาหรือใช้มาก น้อยกว่านี้ก็ตามแต่ความสะดวกและความถนัดของช่างสำรวจ ที่สำคัญขึ้นกับงบประมาณที่ได้มาด้วย (วอนผู้ใหญ่ใจดีเพิ่มงบให้ทีมสำรวจด้วยค่ะ จะได้งานที่มีคุณภาพนะคะ) เอาล่ะ อุปกรณ์ครบแล้ว มาเริ่มสร้างถนนกัน

ถนนสร้างไม่ได้ ถ้าไม่มีการสำรวจ

วิศวกรสำรวจหรือช่างสำรวจ (ขอเรียกรวมๆ ว่าช่างสำรวจนะคะ) มีความสำคัญในการวางแผน ออกแบบ และก่อสร้างถนน จะต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เพื่อกำหนดของเส้นทาง และรายละเอียดอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการก่อสร้างถนน โดยจะต้องทำงานร่วมกับทีมงานที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น นักธรณีวิทยา วิศวกรโยธา และนักสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจว่าถนนที่จะสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน และไม่ผิดต่อข้อกำหนดการก่อสร้างของประเทศไทย

ขั้นตอนการสำรวจถนนมีอะไรบ้าง?

การสำรวจก่อนเริ่มสร้างถนน

1. หา Control Point เพื่อตั้งหลัก

ขั้นแรกในการสำรวจสำหรับสร้างถนนคือการหา Control Point หรือจุดบนพื้นดินที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับงานสำรวจในส่วนที่เหลือ จุดพวกนี้สามารถหาได้ด้วยเครื่อง GPS ตามพิกัดบนแผนที่ หรือใช้กล้องโทเทิลในการกำหนดก็ได้เช่นกัน หลังจากที่ได้จุดอ้างอิงแล้วก็ทำเครื่องหมายไว้ทั้งบนพื้นดินและบนแผนที่ อย่าลืมใช้เครื่องหมายที่เป็นสากลอย่างเทปในงานสำรวจนะคะ (รายละเอียดอยู่ในบทความ ทำไมถึงใช้เทปธรรมดาในงานสำรวจไม่ได้?)

2. วัดระดับดิน

เมื่อได้จุดอ้างอิงแล้ว ช่างสำรวจจะทำการวัดระดับความสูงและความลาดชันของที่ดินเพื่อกำหนดภูมิประเทศของพื้นที่ โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปสร้างเป็นแบบจำลองภูมิประเทศในรูปแบบของภาพ 3D เจ้าแบบจำลองนี่แหละเป็นตัวกำหนดแนวของถนนที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความลาดชัน ความโค้ง (ประเด็นนี้อยู่ในบทความ ทำไมถนนต้องมีทางโค้ง) และการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

3. เช็คสภาพและความแข็งแรงดิน

นอกจากนี้ ช่างสำรวจจะต้องดูสภาพของชั้นดินในตำแหน่งที่จะสร้างถนนด้วย ในขั้นนี้จะเก็บตัวอย่างไปทดสอบความแข็งแรงของดินเพื่อนำข้อมูลไปใช้ออกแบบโครงสร้างถนน รวมถึงระบบระบายน้ำ โดยส่วนนี้นี่แหละค่ะที่จะต้องทำงานร่วมกับนักธรณีวิทยา

4. ทำแผนที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้าง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างของงานสร้างถนนคือการทำแผนที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่ เช่น ท่อน้ำทิ้ง ท่อส่งน้ำประปา สะพาน อาคาร เป็นต้น แน่นอนว่าต้องเป็นหน้าที่ของช่างสำรวจและวิศวกรโยธาทำงานร่วมกัน ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ออกแบบถนนเพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธาณูปโภคและโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนด้วย

5. คำนวณหาเส้นทางสร้างถนน

ลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะนำมาคำนวณหาเส้นทางที่จะสร้างถนน โดยจะวาดจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดสิ้นสุดของถนน รวมถึงออกแบบเส้นทางที่เป็นไปตามมาตรฐานก่อสร้าง เช่น รัศมีความโค้ง ความลาดชัน ความกว้างของถนน ที่เหมาะกับพื้นที่

6. คำนวณวัสดุก่อสร้าง

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการลงมือสร้างจริง โดยจะนำข้อมูลทั้งความยาว ความกว้าง ความหนา ฯลฯ เรียกว่าทุกส่วนของถนนที่ได้จากงานสำรวจมาคำนวณหาวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง เพื่อนำไปประเมินราคาก่อสร้างและทำเอกสารประกวดราคาสำหรับผู้รับเหมา ขั้นนี้จะเป็นการกำหนดงบประมาณการสร้างถนนคร่าวๆ ได้อีกด้วย

การสำรวจระหว่างและหลังสร้างถนน

การสำรวจก่อนสร้างถนนว่าสำคัญแล้ว การสำรวจระหว่างสร้างและหลังสร้างก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้ถนนที่สร้างเป็นไปตามแบบและเผื่อเจอปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันทีไม่ต้องรอให้รถวิ่งแล้วเกิดปัญหาทีหลัง ซึ่งแบบนั้นจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณในการซ่อมแซมอีกมาก

หลังสร้างถนนเสร็จก็ต้องสำรวจอีกครั้งเพื่อเป็นการ Recheck ความถูกต้องตามแบบด้วยนะ ถนนจะได้พร้อมเปิดใช้งานและเกิดปัญหาน้อยที่สุด อีกทั้งการสำรวจนี้ยังเป็นการเก็บข้อมูลเผื่อใช้ในการซ่อมบำรุงถนนหลังการใช้งานอีกด้วย เช่น หลังสร้างเสร็จถนนมีระดับ +10 ม. เวลาผ่านไป 10 ปี วัดระดับถนนได้ +5 ม. นั่นแสดงว่าถนนมีการทรุดตัวไป 5 ม. จากนั้นจะใช้วิธีไหนซ่อมบำรุงก็สุดแล้วแต่วิศวกรจะหาวิธีกันเลยค่ะ

เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ในการสร้างถนนรวมถึงสะพานนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเปิดทำประชาพิจารณ์สำรวจความเห็นชอบของชาวบ้านที่อาศัยแถวนั้นว่ายินดีหรือไม่ที่จะมีการก่อสร้างบริเวณนั้น ยกตัวอย่างกรณีที่จะสร้างสะพานข้ามแยกแห่งหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อสถานที่) ซึ่งไม่สามารถสร้างได้เพราะชาวบ้านไม่เห็นด้วย โครงการนี้จึงพับไป

สรุปแล้วการสำรวจก่อนสร้างถนนจำเป็นไหม?

งานสำรวจเป็นส่วนที่สำคัญในการสร้างถนน เพราะข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวถนน ความกว้าง วัสดุ และรายละเอียดการก่อสร้างจะมาจากช่างสำรวจก่อน และการสำรวจนี่แหละที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าการสร้างถนนได้รับการออกแบบและสร้างตรงตามมาตรฐานและกฎหมายการก่อสร้างของประเทศไทย รวมถึงรับประกันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของถนนนี้ด้วย

ช่างสำรวจสามารถเลือกใช้เครื่องมือในงานสำรวจได้ตามถนัดและความเหมาะสมของงาน แต่จะต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมีสำรวจที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานในการสำรวจด้วย เพราะเป้าหมายของงานสำรวจคือการเก็บข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำมารวบรวมและวิเคราะห์นั่นเอง ทั้งนี้อย่าลืมการสำรวจระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างถนนที่มีเพื่อควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างด้วยนะคะ แน่นอนว่าต้องเก็บข้อมูลไว้ดีๆ ไม่อย่างนั้นการสำรวจที่ทำมาจะสูญเปล่า

Subscribe to our newsletter

Stay up to date with our newest collections, latest deals and special offers! We announce new collection every three weeks so be sure to stay in touch to catch the hottest pieces for you.

Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.