ไฟจราจร จราใจ : มันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ?
19.6.2023

ท่านผู้ท่านเคยแอบคิดกันหรือเปล่าว่า ถ้าหากเราเอาสัญญาณไฟจราจรออกไปแล้ว คงจะดีไม่น้อย แต่แท้จริงแล้วนั้น กว่าจะติดตั้งสัญญาณไฟจราจร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไฟแดง/ไฟเขียว” ได้นั้น ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะนำมาติดตั้งกันได้เลยนะ บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านไปดูกันว่ากว่าที่ทางแยกหนึ่งจะมีเจ้าไฟสามสีขึ้นมา ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

Summary *สรุป*

กำเนิดไฟสามสี

ที่มาของไฟจราจร

ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เสาไฟจราจรถูกตั้งตระง่านขึ้นบนถนนของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นตัวช่วยควบคุมการจราจรอันแสนวุ่นวาย[1] เดิมนั้นไฟจราจรถูกเดบิวต์ด้วย สีแดง-หยุด สีขาว-ไป และสีเขียว-ระวัง จนในที่สุดแล้วก็ถูกเปลี่ยนมาเป็น แดง-เหลือง-เขียว อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่าดวงตาของมนุษย์เราจะรับแสงสีเหลืองได้ดีที่สุด เราจะสังเกตสีเหลืองได้ก่อน (เหตุผลเดียวกับการที่รถโรงเรียนในต่างประเทศใช้สีเหลืองนั่นแหละ) ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะขับขี่ยวดยานผ่านทางแยกที่ปรากฎไฟสีเหลือง[2] ส่วนแสงสีแดงเป็นสีที่ทำให้เรารู้สึกถึงอันตราย ความไม่ปลอดภัย ในขณะที่แสงสีเขียวทำให้เรารู้สึกตรงกันข้ามกับแสงสีแดงนั่นเอง

คิดจะติดไฟแดง คิดถึงปริมาณจราจร!

สัญญาณไฟจราจรเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ควบคุมการจราจรให้ดำเนินไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมที่รักยิ่งของไทย และหนึ่งในภารกิจของ สนข. คือการดูแลการจราจรภายในประเทศ จึงได้จัดทำ “คู่มือและมาตรฐานเครื่องหมายจราจร” ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงโดยทั่วกันในท้องถนนไทยเรา โดยจะมีบทที่กล่าวถึงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรว่าจะต้องพิจารณาในหัวข้อต่าง ๆ

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่านทุกท่าน เราจะลองให้ผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันแก้โจทย์จราจรนี้ไปด้วยกันนะ!

โจทย์: สี่แยกแห่งหนึ่ง ทางเอกมี 6 ช่องจราจร (ไปและกลับอย่างละ 3 ช่องจราจร) ทางโทมี 4 ช่องจราจร (ไปและกลับอย่างละ 2 ช่องจราจร) ปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ทางเอก ทิศเข้าเมือง 900 คัน/ชม. ทิศออกเมือง 650 คัน/ชม. ปริมาณจราจรทางโท ทิศเข้าเมือง 350 คัน/ชม. ทิศออกเมือง 250 คัน/ชม. ณ สี่แยกแห่งนั้นเคยเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาแล้ว 7 ครั้งในเวลา 6 เดือน มีจำนวนคนข้ามถนน 300 คน/ชม.

1. ปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน: พิจารณาปริมาณจราจรทางเอกและทางโท และใช้กราฟเอนกประสงค์ในการพิจารณาติดตั้งไฟสามสี

เราจะพิจารณาตารางที่ 2-1 ก่อนว่าจะใช้เส้นกราฟไหน จากโจทย์แล้วทางออกมีจำนวนช่องจราจรทั้งหมด 6 ช่อง ส่วนทางโทมี 4 ดังนั้นเราจะใช้เส้นกราฟที่ III

ต่อไปก็หาจุดตัดระหว่างแกนของปริมาณรถบนถนนทางหลักและสายรอง จากโจทย์

ปริมาณจราจรของทางเอก หรือถนนสายหลักจะได้เป็น 900 + 650 = 1,560 คัน/ชม.

ปริมาณจราจรของทางโท หรือถนนสายรองที่มากที่สุดคือ 350 คัน/ชม.

จุดตัดของเส้นทั้งสองตกอยู่บนพื้นที่สีเขียว หรือหลังเส้น III แสดงว่าสี่แยกนี่ควรติดตั้งไฟแดงไฟเขียว

2. จำนวนอุบัติเหตุ : พิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหายมากกว่า 2 หมื่นบาทขึ้นไป ถ้ามากกว่า 5 ครั้ง/ปี จึงควรจะติดตั้งสัญญาณไฟจราจร โดยเราสามารถตรวจสอบจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุได้จาก “ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC” 

จากโจทย์ พบว่ามีอุบัติเหตุมากกว่า 5 ครั้ง/ปี จึงควรติดตั้งไฟจราจร

3. จำนวนคนข้ามถนน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

3.1 กรณีทั่วไป โดยดูได้จากตารางด้านล่าง

จากโจทย์ จะพบว่ามีคนข้ามถนนทั้งหมด 300 คน/ชม. ทั้งปริมาณจราจรก็ทะลุไปถึง 1,550 คัน/ชม. อีกด้วย สมควรติดตั้งไฟจราจรจริง ๆ

3.2 กรณีสถานศึกษา โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่นักเรียน นักศึกษาใช้ในการข้ามถนนต่อ 1 ครั้ง กับความถี่ของช่วงถนนที่ว่าง (ไม่มีรถขับผ่าน) และขนาดกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่จะข้ามถนน

ซึ่งจากโจทย์ไม่ได้ระบุว่ามีสถานศึกษาอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า แต่จากข้อ 3.1 ก็สมควรติดไฟแดงสุด ๆ

4. คิดทุกข้อ : โดยนำข้อ 1 – 3 มาพิจารณาประกอบกัน หากทุกหัวข้อมีปริมาณมากกว่า 80% ก็สมควรติดตั้งเจ้าสามสี เพื่อความปลอดภัยของผู้ข้ามถนน ผู้ขับขี่ยานยนต์ และทรัพย์สินของทุกคน

จากโจทย์ จะได้ว่า ณ สี่แยกแห่งนั้น สมควรติดตั้งสัญญาณไฟจราจรมากถึงมากที่สุด!

ไฟเขียวพริบตาเดียวก็เปลี่ยนเป็นแดง

โดยปกติตามทางแยกที่มีปริมาณจราจรค่อนข้างสูงนั้น มักจะมีช่วงเวลาของไฟแดงนานกว่าแยกทั่วไป สาเหตุก็มาจากการที่แยกนั้น ๆ มีปริมาณยานยนต์ที่วิ่งเข้าสู่แยกนั้นเป็นจำนวนมาก ในการระบายรถ 1 เส้นออกไปนั้น จะต้องหยุดการเคลื่อนที่ของรถที่อยู่บนทางที่เหลือ เช่น สี่แยกแห่งหนึ่ง ใช้เวลาระบายรถยนต์ที่เหมาะสม 1 ทิศทางให้ออกไปโดยใช้เวลา 20 วินาที นั่นก็แปลว่าเราจะต้องหยุดรถอีกจาก 3 ทิศทางที่เหลือ เมื่อระบายรถในทิศทางแรกแล้ว ก็ต้องระบายรถที่เหลือจนกว่าจะกลับมาระบายรถจากทิศทางแรก จะได้ว่าเราจะต้องใช้ไฟแดง 20 วินาที/ทิศทาง x 3 ทิศทาง = 60 วินาที ต่อทิศทางหนึ่ง ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ไฟแดงมีระยะเวลานานกว่าไฟเขียวนั่นเอง

กระซิบนิดนึงว่าผู้เขียนได้มีโอกาสไปสำรวจและเก็บปริมาณจราจรด้วยนะ วิธีการก็แสนจะง่ายดาย แต่ต้องอาศัยความอดทนมาก ๆ เลย โดยจะเป็นการเก็บปริมาณจราจรเพื่อนำไปวิเคราะห์จราจรก่อนและหลังก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ ว่าจะมีผลกระทบด้านจราจรอย่างไรกับการจราจรท้องถิ่นบ้าง

หลังจากที่ได้รับโจทย์แล้ว ผู้เขียนก็ไปประจำอยู่ที่แยกที่อยู่ใกล้โครงการ หากเป็นแยกที่มีการจราจรไม่หนาแน่น หรือว่าเป็นแยกที่จะต้องเก็บปริมาณจราจรเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง เราจะใช้การสังเกตด้วยตาเปล่าและจดบันทึกลงในตารางรูปแบบนี้ (อนึ่ง รูปแบบตารางสามารถเปลี่ยนไปได้ตามจุดประสงค์)

หรือหากต้องใช้เวลาทั้งวันและมีปริมาณจราจรหนาแน่นเกินกว่าความสามารถของตาเปล่า เราก็จะตั้งกล้องบันทึกวีดิโอ ก่อนจะนำมาถอดปริมาณที่สำนักงาน จากนั้นปริมาณจราจรที่ต้องการ จะถูกนำไปคำนวณต่อด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปสุดสะดวก เช่น SIMWALK, Intersection Simulator, TSignals, หรือ Road Traffic Simulator เป็นต้น 

โดยส่วนมากมักจะเก็บปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน แยกทิศทางที่รถไป แยกชนิดยานพาหนะ ก่อนจะนำไปคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้สัญญาณไฟสีต่าง ๆ ยังสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ผู้อ่านทุกท่านลองสังเกตดูสิ ว่าในชั่วโมงเร่งด่วนกับช่วงเวลาธรรมดา ระยะเวลาของไฟแต่ละสีมันต่างกันมากน้อยแค่ไหน 

นี่เป็นเพียงการระบายจราจรในทิศทางตรงทิศทางเดียวนะ หากมีการเพิ่มรถเลี้ยวขวาหรือช่องทางกลับรถไปอีกยิ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรอไฟเขียวอีกครั้งเพิ่มขึ้นไปอีก 

ถือเป็นข้อดีอีกหนึ่งข้อที่กฎหมายจราจรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะให้ผู้ขับขี่สามารถเลี้ยวซ้ายได้เลย โดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร (แต่ดูป้าย ณ แยกนั้น ๆ ก่อนนะ!) 

Summary

แม้ว่าเจ้าตาสามสี (aka ไฟจราจร) จะน่าหงุดหงิดในบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องติดแหง็กอยู่บนรถยนต์ส่วนตัว หรือรถโดยสารต่าง ๆ แต่เจ้าสามสีนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยสำคัญที่ช่วยให้การจราจร ณ ทางแยกนั้น ๆ เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย สะดวก และปลอดภัย และผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละสี

Subscribe to our newsletter

Stay up to date with our newest collections, latest deals and special offers! We announce new collection every three weeks so be sure to stay in touch to catch the hottest pieces for you.

Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
Subscribe to our newsletter

Stay up to date with our newest collections, latest deals and special offers! We announce new collection every three weeks so be sure to stay in touch to catch the hottest pieces for you.

Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.